ความหมายของ Gap หรือ Window ที่เกิดขึ้นในกราฟ

ความหมายของ Gap หรือ Window ในกราฟแท่งเทียนหมายถึง จุดหรือบริเวณของราคาในกราฟที่ไม่มีการซื้อ-ขายเกิดขึ้น หรือจะว่าง่ายๆก็คือราคาที่ไม่มีการเทรดนั่นเอง โดยปกติจะเกิดขึ้นกับราคาปิดและราคาเปิดในวันถัดไปของตลาด 

Gap-Window-Candlestick

ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิด Gap ก็มีอยู่หลายสาเหตุ ยกตัวอย่างเช่น การประกาศตัวเลขผลประกอบการหลังจากที่ตลาดปิดแล้ว หากตัวเลขที่ออกมานั้นสูงเกินกว่าที่ตลาดได้คาดการณ์เอาไว้อย่างมีนัยสำคัญ หรือตัวเลขผลประกอบการนั้นดีเกินคาด จึงเป็นเหตุให้ในวันถัดมานักลงทุนตั้งราคาซื้อที่สูงขึ้นกว่าราคาปิดจากวันก่อน ทำให้เกิดช่องว่างของราคาที่ขาดหายไปที่เรียกว่า Gap หรือ Window นี่เอง ฉะนั้น Gap หรือ Window จึงเปรียบเสมือนหลักฐานหรือข้อพิสูจน์ ที่บ่งบอกว่ามีปัจจัยสำคัญบางอย่าง ที่ส่งผลต่อปัจจัยพื้นฐาน หรือจิตวิทยาการลงทุน ของนักลงทุนที่จะเข้ามาในตลาด 

รูปแบบของ Gap (Window) โดยส่วนใหญ่จะมีอยู่ในลักษณะ 4 แบบ คือ

1. Common Gap เป็น Gap ที่พบเห็นได้ตามปกติ มักจะเกิดก่อนการประกาศจ่ายปันผล ปริมาณการซื้อขายจะเบาบาง โดยทั่วไปเมื่อเกิด Gap ขึ้นแล้ว จากนั้นไม่นานนักก็จะถูกปิด Gap ทันที คืออยู่ในช่วงเวลาแค่ไม่กี่วันหรือสัปดาห์นั่นเอง

Common-Gaps

 

 

 

2. Breakaway Gap ถือว่าเป็น Gap ที่พบได้ไม่บ่อยนัก และเมื่อหากเกิดขึ้นแล้ว Gap ประเภทนี้จะอยู่ในบริเวณของแนวรับและ แนวต้าน ที่ประกอบด้วย Gap ที่เป็นขาลงและขาขึ้นนั่นเอง

Breakaway-Gap-Downtrend-ok

ตามตัวอย่าง Breakaway Gap ขาลง สังเกตได้ว่าแท่งเทียนวันถัดไป(แท่งสีแดง)เปิดกระโดดลงหลุดแนวรับลงมา ทำให้เกิดช่องว่างที่เรียกว่า Gap ขึ้น

Breakaway-Gap-uptrend

ตามตัวอย่าง Breakaway Gap ขาขึ้น จะสังเกตได้ว่าแท่งเทียนวันถัดไป(แท่งสีแดง)เปิดกระโดดทะลุแนวต้านขึ้นไป ทำให้เกิดช่องว่างที่เรียกว่า Gap ขึ้น

 

 

3. Runaway Gap คือลักษณะของ Gap ที่เกิดขึ้นตามแนวโน้มของตลาด (ค่าเงินหรือหุ้น) ที่มันเคลื่อนที่ ซึ่งจะประกอบด้วย Runaway Gap ที่เป็นแนวโน้มขาลง (Downtrend) และ Runaway Gap ที่เป็นแนวโน้มขาขึ้น (Uptrend)

Runaway-Gap-in-Downtrend

 

ลักษณะของ Runaway Gap ที่เกิดขึ้นกับแนวโน้มขาลง หลังจากที่เกิด Gap แล้ว มักจะมีการซื้อขายด้วยปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นตามมา 

Runaway-Gap-in-Uptrend

ลักษณะของ Runaway Gap ที่เกิดขึ้นกับแนวโน้มขาขึ้นนั้น หลังจากที่เกิด Gap แล้ว  มักจะมีการซื้อขายด้วยปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นตามมา 

 

 

 

4. Exhausting Gap เป็นรูปแบบของ Gap ที่เกิดขึ้นในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงหรือกลับตัวของเทรนด์ ไม่ว่าจะเป็นทั้งเทรนด์ขาขึ้นและขาลง ลักษณะคือ ในแนวโน้มขาขึ้นจะเกิดคล้ายกับ Runaway Gap แต่จะมีการปิด Gap อย่างรวดเร็ว และมีปริมาณการซื้อขายที่สูงมาก ประกอบกับราคาที่มีการลดลงอย่างรวดเร็ว แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแนวโน้มจากขาขึ้นเป็นขาลง

Exhausting Gap in uptrend

ตามตัวอย่างของ Exhausting Gap ที่เกิดในแนวโน้มขาขึ้น ยืนยันด้วยปริมาณการซื้อขายที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง และเกิดรูปแบบการกลับตัวแนวโน้มระยะสั้นของแท่งเทียนในรูปแบบ Shooting Star

Exhausting Gap in Downtrend

ตามตัวอย่างของ Exhausting Gap ที่เกิดในแนวโน้มขาลง แล้วมีการกลับตัวจากเทรนด์ขาลงเปลี่ยนเป็นเทรนด์ขาขึ้น โดยมีการยืนยันด้วยปริมาณการซื้อขายที่เพิ่มสูงขึ้น แล้วเกิดการปิด Gap อย่างรวดเร็ว และหลังจากนั้นก็เกิดแท่งเทียนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน 

 

[ratings]